อินเตอร์เน็ต
วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553
มาตราการป้องกันอันตรายจากหม้อไอน้ำ
มาตราการป้องกันอันตรายจากหม้อไอน้ำ
ด้วยอุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 40 องศาเซลเซียส แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยของภูมิอากาศในฤดูร้อนบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว อากาศร้อนๆ แบบนี้ ยังดีกว่าอากาศหนาวจับใจในเดือนที่ผ่านมา เพราะยังไงๆ ก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เพราะความวิปริตผิดฤดูที่ชวนให้คิดถึงบรรยากาศในหนังประเภท ‘The day after tomorrow’ เป็นไหนๆ ว่าไหม
สำหรับเรื่องที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และเลือกใช้หม้อไอน้ำหรือ Boiler และก่อนที่จะไปว่ากันถึงเรื่องรายละเอียด ก็ขออนุญาตทวนความจำกันสักเล็กน้อย เกี่ยวกับความเป็นมาของเจ้าหม้อไอน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงไฟฟ้า และโรงพยาบาล
โดยบุคคลแรกที่ริเริ่มเอาไอน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนเครื่องจักร เครื่องยนต์และถ่ายเทความร้อน ก็คือ เจมส์ วัตต์ (James Watt) วิศวกรชาวอังกฤษ ซึ่งได้คิดค้นดัดแปลงเครื่องจักรไอน้ำที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ก็คือ รถจักรไอน้ำ ซึ่งนับว่าเป็นยุคเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางอุตสาหกรรมของโลกเลยก็ว่าได้
ซึ่งหม้อไอน้ำ (Boiler) นี้ ก็คือ เครื่องกำเนิดไอน้ำชนิดภาชนะปิด ทำด้วยเหล็กกล้าหรือวัสดุอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน ภายในประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนเก็บน้ำและส่วนเก็บไอน้ำ ผลลัพธ์ที่ได้คือพลังไอน้ำและความร้อน จัดว่าเป็นเครื่องจักรที่มีอันตรายสูง ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลหม้อไอน้ำจึงควรที่จะมีความรู้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะเกิดการระเบิดและก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้
ส่วนการทำงานของหม้อไอน้ำไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตามแต่ จะมีหลักการทำงานเหมือนกัน นั่นก็คือ หลังจากที่ได้รับความร้อนจากแหล่งความร้อน ไม่ว่าจะเป็นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ไฟฟ้าหรือพลังงานนิวเคลียร์แล้ว ก็จะส่งผ่านความร้อนไปยังน้ำที่อยู่ภายในหม้อน้ำ จนกระทั่งน้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำ หลังจากที่ได้ทวนความจำกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราก็มาว่ากันถึงเรื่องรายละเอียดของความปลอดภัยในการใช้หม้อไอน้ำกันดีกว่า
1. อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยหม้อไอน้ำ
แม้ว่าหม้อไอน้ำจะมีโครงสร้างที่แข็งแรง และประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนที่จำเป็นครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะเกิดการระเบิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเพิ่มเข้าไปด้วย ดังนี้
1.1 ลิ้นนิรภัย เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของหม้อไอน้ำ ใช้สำหรับป้องกันหม้อไอน้ำระเบิด เนื่องจากความดันสูง โดยทำหน้าที่ระบายไอน้ำออกไปภายนอก เมื่อเกิดภาวะที่ความดันภายในหม้อน้ำสูงเกินกว่าที่ตั้งไว้ โดยลิ้นนิรภัย มี 3 แบบ คือแบบสปริง แบบน้ำหนักถ่วงโดยตรง และแบบคานน้ำหนัก โดยการเลือกใช้ควรเลือกลิ้นนิรภัยที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของบ่าลิ้น ไม่ต่ำกว่า ½ นิ้ว และควรติดตั้งลิ้นนิรภัยไว้ใกล้หม้อไอน้ำมากที่สุด และไม่มีวาล์วคั่น ในกรณีที่หม้อไอน้ำมีพื้นที่รับความร้อนมากกว่า 500 ตารางฟุต ควรมีลิ้นนิรภัย 2 ชุด
1.2 ฝานิรภัย เป็นอุปกรณ์นิรภัยที่ใช้กับหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงเหลวหรือก๊าซ ช่วยป้องกันแรงกระแทกที่เกิดจากการระเบิดของแก๊สที่ค้างอยู่ในห้องเผาไหม้ มิฉะนั้นแล้วชุดหัวฉีดจะชำรุดได้ สามารถติดตั้งได้ที่ด้านหน้า ด้านข้างหรือด้านหลังของหม้อไอน้ำ
1.3 เครื่องควบคุมระดับน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ควรติดตั้งไว้กับหม้อไอน้ำทุกเครื่อง โดยเฉพาะหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงเหลว ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในหม้อไอน้ำให้อยู่ในช่วงที่กำหนด นิยมใช้กันอยู่ 2 แบบ คือ แบบอิเล็กโทรด และแบบลูกลอย
1.4 สวิตซ์ควบคุมความดัน ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในหม้อไอน้ำให้อยู่ในช่วงที่กำหนดหรือตั้งไว้ การทำงานจะอาศัยความดันควบคุมหัวฉีด
1.5 เครื่องดักไอน้ำ ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์อัตโนมัติ สำหรับระบายน้ำที่ค้างอยู่มากในท่อ ให้ออกไปภายนอก สาเหตุที่ควรติดตั้ง เพราะไอน้ำที่ออกจากหม้อไอน้ำ เมื่อสัมผัสกับท่อจ่ายไอน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ ก็จะเกิดการกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำค้างอยู่ตามท่อ ถ้าปริมาณน้ำที่ค้างอยู่มาก ก็จะทำให้เกิดอันตราย และทำให้ประสิทธิภาพของไอน้ำลดลง
1.6 สัญญาณเตือนภัยอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์แจ้งอันตรายเมื่อระดับน้ำในหม้อน้ำต่ำกว่าที่ใช้งานปกติ โดยสามารถที่จะติดตั้งร่วมกับเครื่องควบคุมระดับน้ำ หรือบางชนิดอาจติดตั้งแยกต่างหากก็ได้ โดยสัญญาณที่เตือนภัยมีทั้งที่เป็นแบบเสียง และแบบแสง
2. อุบัติเหตุจากหม้อไอน้ำ
อุบัติเหตุจากหม้อไอน้ำที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ หม้อไอน้ำระเบิด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีชิ้นส่วนของโครงสร้างหม้อไอน้ำฉีกขาด อันเนื่องมาจากความดันที่สูงเกินไปของไอน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนจากบริเวณท่อไฟใหญ่ ผนัง และเปลือก ความรุนแรงของไอน้ำที่สูงเกินได้พุ่งออกมาจะมีเสียงดังสนั่นคล้ายกับระเบิด ซึ่งสาเหตุของหม้อไอน้ำระเบิดพอที่จะสรุปได้ดังนี้
2.1 เลือกใช้ประเภทของหม้อไอน้ำไม่เหมาะสมกับประเภทงานที่ใช้
2.2 หม้อไอน้ำที่ใช้ไม่ได้มาตราฐานความปลอดภัย ทั้งในส่วนของวัสดุ แบบโครงสร้าง และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
2.3 ใช้งานหม้อไอน้ำที่ความดันสูงกว่าที่กำหนด โดยการปรับตัวลิ้นนิรภัยให้ระบายไอน้ำที่ความดันสูงเกินไป
2.4 ผู้ควบคุมหม้อไอน้ำไม่มีความรู้ ความชำนาญเพียงพอในการปฏิบัติงานควบคุม
2.5 ขาดการดูแล ตรวจสอบ บำรุงรักษาหม้อไอน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและปลอดภัย
2.6 น้ำที่ใช้ป้อนเข้าไปในหม้อไอน้ำมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เช่น มีความกระด้างมากเกินไป มีภาวะความเป็นกรด-ด่าง มีสารละลายในน้ำ หรือมีตะกอนและความขุ่นมากเกินไป เป็นต้น
2.7 มีการดัดแปลงอุปกรณ์หม้อไอน้ำโดยขาดความชำนาญ และไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
2.8 ทำการติดตั้งไม่ถูกหลักความปลอดภัย และสถานที่ติดตั้งไม่เหมาะสม
2.9 ซื้อหม้อไอน้ำมือสองหรือหม้อน้ำเก่ามาใช้ โดยพิจารณาไม่ถี่ถ้วนถึงสภาพการใช้งาน ซึ่งถือว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างมาก
2.10 เมื่อเกิดปัญหาการใช้งานหม้อไอน้ำแล้ว ผู้ที่ทำการซ่อมแซมขาดความเข้าใจ ไม่รอบคอบ
3. มาตราการป้องกันอันตรายจากหม้อไอน้ำ
3.1 การเลือกหม้อไอน้ำ ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ควรทำการตรวจสอบว่างานที่เราจะนำเอาหม้อไอน้ำไปใช้นั้น ต้องการคุณสมบัติของหม้อไอน้ำอย่างไรบ้าง เช่น ขนาด โครงสร้าง อุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ลักษณะการติดตั้ง การตรวจเช็คหรือซ่อมบำรุงสามารถทำได้ง่ายหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุด โดยในกรณีที่เป็นหม้อไอน้ำใหม่ ควรมีการพิจารณาดังนี้
1). การเลือกซื้อหม้อไอน้ำที่ผลิตจากต่างประเทศ ควรจะพิจารณาว่าได้รับมาตราฐานคุณภาพสินค้าใดๆ บ้างหรือไม่ เช่น ASME (The American Society of Mechanical Engineering) BS (British Standard) DIN (Deutsches Institute Fur Normung) JIS (Japanese Industrial Standard) หรือมาตราฐานอื่นๆ จากประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
2). การเลือกซื้อหม้อไอน้ำที่ผลิตในประเทศ ควรเลือกซื้อจากบริษัทหรือโรงงานที่เชื่อถือได้ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีวิศวกรจากบริษัทผู้ขายที่สามารถให้คำแนะนำและติดตั้งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการบริการหลังการขายที่ดี ตรวจสอบและพิจารณาดูถึงวัสดุและอุปกรณ์ของหม้อไอน้ำ ว่าเหมาะสมกับประเภทของงานที่จะนำไปใช้หรือไม่
ส่วนในกรณีที่เป็นหม้อไอน้ำเก่า ควรจะพิจารณาอย่างละเอียดเป็นพิเศษ โดยจัดหาวิศวกรผู้มีความรู้ความชำนาญเพียงพอที่จะมาตรวจสอบโครงสร้าง ส่วนประกอบและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของหม้อไอน้ำ ว่ามีครบถ้วนและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่เพียงใด และมีการทดสอบการใช้งานจริงก่อนตัดสินใจซื้อ
3.2 การใช้งานและการบำรุงรักษาหม้อไอน้ำ
- การติดตั้งหม้อไอน้ำควรคำนึงถึงสถานที่ที่ใช้ติดตั้งและขนาดของหม้อไอน้ำ ศึกษาคู่มืออย่างละเอียด ทางที่ดีควรให้วิศวกรผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเป็นผู้ติดตั้งให้
- ผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ ควรมีความรู้ความชำนาญเพียงพอ ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ
- มีการตรวจสอบสภาพความพร้อมใช้งานของหม้อไอน้ำอยู่เสมอ ทั้งก่อนและหลังใช้งาน
- มีการบำรุงรักษาส่วนประกอบและอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยมีการจดบันทึกรายงานเป็นหลักฐาน พร้อมสรุปผลการตรวจสอบให้ฝ่ายบริหารทราบ
- อย่าใช้งานหม้อไอน้ำจนเกินกำลัง หรือดัดแปลงโดยไม่ถูกหลักวิศวกรรม
- เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับการใช้งานหม้อไอน้ำ ควรปรึกษาวิศวกรของบริษัทผู้ขายหม้อไอน้ำ อย่าลงมือแก้ไขเองอาจจะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
3.3 การตรวจทดสอบความปลอดภัยหม้อไอน้ำ
มีการตรวจสอบระบบการทำงานและอุปกรณ์ความปลอดภัย ตามระยะเวลาและมาตราฐานความเหมาะสมที่กำหนดไว้
การตรวจสอบประจำปี ควรตรวจสอบโดยวิศวกรผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาติขึ้นทะเบียนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น
ควรมีการทำความสะอาดหม้อไอน้ำทั้งในส่วนที่สัมผัสน้ำและส่วนที่สัมผัสไฟ
ตรวจสอบดูว่าโครงสร้างของหม้อไอน้ำยังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ มีการแตกร้าว รั่วซึม หรือเสียรูปทรงหรือไม่
ต้องทำการพิจารณาส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่สำคัญของหม้อไอน้ำเป็นพิเศษ และควรถอดออกมาทำความสะอาดอยู่เสมอ ถ้าพบว่าชำรุดหรือสึกหรอ ต้องรีบซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ในทันที
ควรทดสอบอัดน้ำที่ความดัน 1.5 เท่าของความดันการใช้งาน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)